ครูอ้อย ยินดีต้อนรับ

วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เรียนอังกฤษยังไง...ถ้าจะไปสอบแอดมิชชั่น

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่นักเรียนมัธยมปลายหลายคนที่จะสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หรือ Admissions ไม่ได้ให้ความสนใจกับวิชาภาษาอังกฤษเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่คะแนนวิชาภาษาอังกฤษเป็นคะแนนที่สำคัญชี้เป็นชี้ตายวิชาหนึ่งในการสอบ สำหรับนักเรียนสายวิทย์ที่สอบ O-NET ถ้าทำวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ ได้คะแนนระดับปานกลางแล้ว คะแนนวิชาภาษาอังกฤษจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งคะแนนให้นักเรียนสอบติดในคณะที่คะแนนสูงๆ เช่น แพทยศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ เพราะค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบวิชาภาษาอังกฤษในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 30 คะแนนเท่านั้น ถ้านักเรียนสามารถทำคะแนนวิชาภาษาอังกฤษได้ 60-65 คะแนน ก็จะสามารถทิ้งคู่แข่งได้อย่างขาดลอย ประมาณว่าจะสามารถขจัดคู่แข่งออกไปไม่น้อยกว่า 320,000 คนเลยทีเดียว
สำหรับนักเรียนสายศิลป์ วิชาภาษาอังกฤษมีความสำคัญยิ่ง สำคัญถึงขนาดอาจารย์บางท่านกล่าวว่า “สำหรับเด็กสายศิลป์แล้ว ถ้าทำคะแนนวิชาภาษาอังกฤษได้ (คะแนนดี) และเลือกคณะไม่สูงนักจะต้องสอบติดอย่างแน่นอน” คำกล่าวนี้มีสถิติตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สนับสนุน ผู้ที่สอบติดคณะวิชาของสายศิลป์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สอบภาษาอังกฤษผ่าน 50 คะแนนเกือบทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้นักเรียนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์หลายคนที่คิดจะทิ้งภาษาอังกฤษ คงต้องทบทวนความคิดของตัวเองใหม่ ยังไม่สาย ถ้าจะเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ เวลาที่เหลือแม้จะไม่มากนักแต่น่าจะเพียงพอสำหรับการฝึกปรือจนชำนาญ และพร้อมสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบ Admissions ที่จะมาถึงอีกไม่นานนี้
พทำอย่างไรจึงจะได้คะแนนภาษาอังกฤษ 60 คะแนนขึ้นไปพ
1. ต้องรู้คำศัพท์มาก เพราะข้อสอบภาษาอังกฤษเกือบทุกฉบับออกเกินหลักสูตรมัธยมปลายของกระทรวงศึกษาธิการเล็กน้อย (เพื่อให้สามารถคัดแยกนักเรียนได้) จึงมักมีคำศัพท์ยากๆ อยู่เป็นจำนวนมาก หากนักเรียนมีปัญหาด้านคำศัพท์จะบั่นทอนคะแนนของนักเรียนเป็นอย่างมากเพราะนักเรียนจะอ่านข้อสอบไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร โจทย์ถามอะไร ไม่รู้จะเอาตรงไหนมาตอบก็เลยฝนคำตอบมั่ว เสร็จแล้วก็นอนหลับในห้องสอบ (ข้อสอบภาษาอังกฤษบางฉบับมี 40 หน้า เกือบ 5,000 คำ นักเรียนบางคนทำเสร็จภายใน 15 นาที )
วิธีการเรียนคำศัพท์ที่ถูกต้องไม่ใช่การท่องศัพท์ที่เรียงตามตัวอักษร A – Z เพราะการท่องวิธีนี้สมอง (ซิริบรัม) จะเก็บไว้เป็นความจำระยะสั้น (Short-Term Memory) ซึ่งนักจิตวิทยาได้ทำการทดสอบแล้วว่าจะค่อยๆ ลบเลือนภายใน 21–30 วัน การท่องศัพท์วิธีนี้จึงเป็นความพยายามที่สูญเปล่าไร้ประโยชน์ วิธีที่น่าสนใจกว่าคือ การเรียนคำศัพท์จากรากศัพท์ (Roots) อุปสรรค (Prefixes) และปัจจัย (Suffixes) แล้วจึงค่อยท่องศัพท์เป็นชุดๆ ไป จึงจะจำได้ง่าย และที่สำคัญเป็นความจำระยะยาว (Long-Term Memory) ติดตัวเป็นทักษะของนักเรียนไปตลอด อีกวิธีหนึ่งคือการเดาศัพท์จากบริบท (Contextual Clues) คือ การเดาความหมายศัพท์จากข้อความที่แวดล้อมคำศัพท์ที่เราไม่ทราบความหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเดาคำศัพท์จากข้อความที่แวดล้อมได้ต้องผ่านการฝึกฝนมามากพอสมควรและต้องมีคำศัพท์เก็บสะสมไว้ (Vocabulary Stock) จำนวนมาก ต้องอ่านหนังสือมามาก และต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร จึงเป็นวิธีที่นักเรียนมัธยมปลายบางคนใช้ไม่ค่อยได้ผลนัก ส่วนวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันก็คือ การอาศัยการท่องศัพท์จากทำนองเพลง ซึ่งก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ แต่บางครั้งไม่สามารถแยกความหมายของ Synonyms แต่ละคำได้
2. ต้องมีความสามารถพื้นฐานทางด้านไวยากรณ์ นักเรียนไม่จำเป็นต้องรู้พลิกแพลงหลักไวยากรณ์ยากๆ ที่ละเอียดมากๆ แต่ควรรู้แนวคิดพื้นฐาน (Basic Concepts) ของไวยากรณ์แต่ละเรื่อง เพราะความรู้ด้านไวยากรณ์จะช่วยให้นักเรียนอ่านเรื่องได้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ปัจจุบันแนวข้อสอบ Admissions นั้น ได้ทดสอบความรู้ด้านไวยากรณ์อยู่มากทีเดียว หัวข้อทางไวยากรณ์ที่นักเรียนควรทบทวนได้แก่ Tenses, Non-finite Verbs (Gerund, Infinitive, Participle), Reported Speech, Question Tag, Phrasal Verbs, Conditional Sentence และ Sentence Structure แบบต่างๆ เป็นต้น
3. ต้องรู้เทคนิคการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เพราะข้อสอบแทบทุกแบบทั้ง 100 ข้อ เป็นข้อสอบให้นักเรียนอ่านทั้งสิ้น เมื่อนักเรียนอ่านแล้ว กระบวนการต่อมาก็คือ การแปลเป็นภาษาไทยนั่นเอง เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลในใจขณะที่นักเรียนอ่าน แน่นอนว่านักเรียนไม่จำเป็นต้องแปลได้ทุกคำพูด แต่ต้องแปลแล้วพอจับใจความเป็นภาษาไทยได้ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนที่ถูกวิธีการอ่านข้อความที่แปลเป็นภาษาของเรา(ภาษาไทย)แล้วย่อมเข้าใจได้ง่ายกว่าการอ่านภาษาต่างประเทศ นักเรียนลองเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนอ่านหนังสือพิมพ์ มติชน กับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ว่า นักเรียนอ่านข่าวเดียวกัน อ่านฉบับใดแล้วเข้าใจมากกว่ากัน คำตอบจะเป็นเครื่องยืนยันว่าการแปลเป็นภาษาไทยสำคัญมากน้อยเพียงใด
4. ต้องรู้จักเทคนิคการอ่าน เช่น เทคนิคการหาความคิดหลัก (Main Idea), หัวเรื่อง (Topic), ชื่อเรื่อง (Title), การแทนสรรพนาม (Pronoun Reference), การสรุป (Inference), ความมุ่งหมาย (Purpose) ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในข้อสอบคัดเลือกทุกฉบับเป็นประจำทุกปี
5. ต้องรู้จักสำนวนหรือสุภาษิตง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น
- Keep your fingers crossed. หวังว่าคุณคงโชคดี
- It's a piece of cake. มันเป็นเรื่องง่ายๆ ของหมูๆ
- You must be pulling my leg. คุณต้องล้อผมแน่ๆ
- The show must go o¬n. งานแสดงจะต้องดำเนินต่อไป
- Mr. Oak is a man of means. คุณโอ๊คเป็นมหาเศรษฐี
เพราะสำนวนเหล่านี้มักเป็นสิ่งที่ข้อสอบยุคใหม่ ต้องการทดสอบความรู้ผู้เข้าสอบอยู่เสมอๆ ถ้านักเรียนไม่ทราบความหมายมาก่อน ไปแปลหรือตีความตรงๆ ตามรูปศัพท์ ก็จะสับสนได้
6. ต้องฝึกหัดทำข้อสอบเอนทรานซ์เก่าๆ ข้อสอบ CU-TEP, TU-GET, TOEFL (PBT & CBT), SAT และข้อสอบ IELTS อย่างน้อย 5 ปีย้อนหลัง เพื่อให้ชินกับข้อสอบสมัยใหม่ที่มีความยาวขนาด 2,000 – 3,000 คำ จำนวน 20 – 30 หน้า โดยใช้เวลา 2 - 3 ชั่วโมง เป็นการสร้างความคุ้นเคยกับลักษณะข้อสอบแนว Communicative English ที่มักประกอบด้วย Situational Dialogues 10 –15 ข้อ & Long Conversation 10 ข้อ
- Letters 1 – 2 เรื่อง
- Advertisement, News, Cartoon, Job Application, Manual, Schedule, Label, etc. 1 – 2 เรื่อง
- Error Identification Test 5 – 10 ข้อ
- Reading for Information, Statistical Description (Diagram, Graph, Table etc.)
- Grammar & Structure 5 - 10 ข้อ
- Cloze Tests 1 – 2 เรื่อง
- Speed Reading
- Writing Test แบบปรนัย 4 ตัวเลือก
- Passages 3 – 5 เรื่อง ขึ้นอยู่กับความยาวของแต่ละเรื่อง
7. ต้องรู้กลเม็ด (Tricks) ในการเดาคำตอบ เพราะถ้านักเรียนอ่านข้อสอบแล้วมืดแปดด้านแปลไม่ออก อ่านไม่รู้เรื่องเลย นักเรียนจะต้องรู้ว่าควรจะเดาคำตอบจากตัวเลือก (Choices) ได้อย่างไรโดยใช้กลเม็ดจากการวิเคราะห์คำตอบด้วยทฤษฎีความน่าจะเป็น (Probability Theory) ซึ่งผู้อ่อนภาษาอังกฤษก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการเดาคำตอบได้อย่างถูกต้อง แม่นยำพอสมควรตามทักษะที่ได้รับการฝึกฝนตามทฤษฎีความน่าจะเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น